ภาพ: หน้าปกรายงาน
ภาพ: หน้าปกรายงาน

องค์กรที่ต่อต้านการลงทุนด้านอาวุธนิวเคลียร์มีจำนวนเพิ่มขึ้น

โดย Jaya Ramachandran

เจนีวา (IDN) — "สถานการณ์เกี่ยวกับอาวุธนิวเคลียร์กำลังเปลี่ยนไป รัฐบาล สมาชิกรัฐสภา เมือง และภาคการเงินต่างเพิกถอนการอนุญาตโดยปริยายในการผลิตอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง” ซึ่งนี่เป็นจุดเปลี่ยนในประวัติศาสตร์หลังสงครามเย็น ตามข้อมูลจากรายงานฉบับใหม่ที่เปิดเผยก่อนที่รัสเซียจะบุกยูเครน ที่สำคัญก็คือ การรุกรานของรัสเซียยังก่อให้เกิดความกลัวว่าจะเกิดสงครามโลกครั้งที่สามซึ่งอาจเกี่ยวข้องกับอาวุธนิวเคลียร์

รายงานที่มีชื่อว่า 'Rejecting Risk: 101 policies against nuclear weapons' (การปฏิเสธความเสี่ยง: 101 นโยบายต่อต้านอาวุธนิวเคลียร์) ได้รับการตีพิมพ์โดย International Campaign to Abolish Nuclear Weapons (คณะกรรมการรณรงค์เพื่อยกเลิกอาวุธนิวเคลียร์ระหว่างประเทศ) ซึ่งมีฐานอยู่ที่เจนีวาและได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพประจำปี 2017 และ PAX ซึ่งเป็นองค์กรสันติภาพที่ใหญ่ที่สุดในยูเทรกต์ ประเทศเนเธอร์แลนด์

รายงานดังกล่าวจัดทำโปรไฟล์สำหรับสถาบันการเงิน 101 แห่งที่มีนโยบายที่จำกัดการลงทุนในบริษัทที่เกี่ยวข้องกับการผลิต การพัฒนา การใช้งาน การจัดเก็บ การทดสอบ หรือการใช้อาวุธนิวเคลียร์ รายงานดังกล่าวชี้ให้เห็นว่าสถาบันการเงินประเภทนี้มีจำนวนเพิ่มขึ้น 24 แห่งเมื่อเทียบกับงานวิจัยที่ตีพิมพ์ก่อนหน้านี้ และในจำนวนนี้มี 59 แห่งที่มีนโยบายที่ครอบคลุม พวกเขาได้รับการระบุชื่อไว้ใน 'Hall of Fame' (หอเกียรติยศ) และสถาบัน 42 แห่งมีนโยบายที่ไม่ครอบคลุมทั้งหมด พวกเขาได้รับการระบุชื่อไว้ในตำแหน่ง 'Runners-Up' (รองชนะเลิศ)

หอเกียรติยศเป็นสถานที่ที่ระบุสถาบันการเงิน 59 แห่งที่ปรับใช้ ดำเนินการ และเผยแพร่นโยบายที่ทำการป้องกันอย่างครอบคลุมเพื่อที่จะไม่มีส่วนร่วมทางการเงินในบริษัทที่ผลิตอาวุธนิวเคลียร์ สถาบันต่าง ๆ ในหอเกียรติยศนี้ตั้งอยู่ในออสเตรเลีย เบลเยียม แคนาดา เดนมาร์ก ฟินแลนด์ เยอรมนี ไอร์แลนด์ อิตาลี ลักเซมเบิร์ก เม็กซิโก นิวซีแลนด์ นอร์เวย์ สวีเดน สวิตเซอร์แลนด์ เนเธอร์แลนด์ สหราชอาณาจักร และสหรัฐอเมริกา

ส่วน 'รองชนะเลิศ' ประกอบไปด้วยสถาบันการเงิน 42 แห่งที่มีขั้นตอนในการแยกผู้ผลิตอาวุธนิวเคลียร์ออกจากการลงทุน แต่นโยบายของพวกเขาไม่ครอบคลุมในการป้องกันไม่ให้มีส่วนร่วมทางการเงินทุกประเภทกับบริษัทอาวุธนิวเคลียร์ สถาบันเหล่านี้ตั้งอยู่ในเอาเทอารัว/ นิวซีแลนด์ ออสเตรีย เบลเยียม แคนาดา เดนมาร์ก ฝรั่งเศส เยอรมนี ไอร์แลนด์ อิตาลี มาเลเซีย นอร์เวย์ สเปน สวีเดน สวิตเซอร์แลนด์ เนเธอร์แลนด์ สหราชอาณาจักร และสหรัฐอเมริกา

ตามรายงานฉบับนี้ สถาบันการเงินที่ไม่ได้ลงทุนในบริษัทอาวุธนิวเคลียร์นั้นมีจำนวนมากขึ้นเรื่อย ๆ และพวกเขาใช้สนธิสัญญาห้ามอาวุธนิวเคลียร์ (TPNW) เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของเหตุผลในการไม่รวมบริษัทเหล่านี้ไว้ในนโยบายของตนเอง รายงานดังกล่าวระบุว่า "เราเห็นความสัมพันธ์ระหว่างภาคเอกชนที่มีความเข้าใจที่เพิ่มขึ้นเกี่ยวกับการมีส่วนร่วมในโครงการอาวุธนิวเคลียร์ และจำนวนของนโยบายที่จะไม่รวมบริษัทที่เกี่ยวข้อง"

รายงาน 'Don’t Bank on the Bomb' (อย่าฝากเงินกับระเบิด) ประจำปี 2016 ก่อนการเจรจา TPNW นั้นประกอบไปด้วยนโยบาย 54 ฉบับ หลังจากมีการใช้สนธิสัญญาห้ามอาวุธนิวเคลียร์ จำนวนนโยบายเพิ่มขึ้นเป็น 77 ฉบับ ตั้งแต่ TPNW มีผลบังคับใช้ จำนวนนโยบายที่ทราบก็เพิ่มขึ้นเป็นมากกว่า 100 ฉบับ

ที่ประชุมได้ลงมติยอมรับสนธิสัญญาห้ามอาวุธนิวเคลียร์ที่สหประชาชาติเมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2017 ด้วยคะแนนเสียงเห็นชอบจาก 122 รัฐ หนึ่งเสียงที่ไม่เห็นชอบ และหนึ่งการงดออกเสียง และเปิดให้ลงนามโดยเลขาธิการสหประชาชาติเมื่อวันที่ 20 กันยายน 2017 หลังจากการมอบสัตยาบันสารหรือภาคยานุวัติสนธิสัญญาฉบับที่ 50 กับเลขาธิการใหญ่เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2020 สนธิสัญญาดังกล่าวก็ได้มีผลบังคับใช้ในวันที่ 22 มกราคม 2021 ตามมาตรา 15 (1)

รายงานฉบับนี้เน้นย้ำว่าจำนวนสถาบันการเงินที่เพิ่มสูงขึ้นนั้นได้แสดงให้เห็นภาพรวมของบรรทัดฐานที่เกิดขึ้นใหม่ในภาคการเงิน โดยที่พวกเขาพยายามที่จะหลีกเลี่ยงบริษัทที่ก่อให้เกิดความเสี่ยงด้านอัตถิภาวนิยม "นอกเหนือจากการเพิ่มนโยบายดังที่ระบุไว้ในรายงาน นโยบายเหล่านี้ยังมีความครอบคลุมมากขึ้น ซึ่งแสดงให้เห็นว่าสถาบันการเงินยอมรับว่าตนมีบทบาทในการไม่ยอมรับการผลิตอาวุธที่ไร้มนุษยธรรม"

ดูเหมือนว่า TPNW จะมีผลกระทบอย่างมาก และรายงานนี้แสดงให้เห็นถึงผลกระทบในแง่หนึ่ง สถาบันการเงินต่าง ๆ ได้ระบุเป็นการเฉพาะว่าสนธิสัญญาเป็นเหตุผลที่ตนไม่ทำการลงทุนหรือการจัดหาเงินทุนในอุตสาหกรรมอาวุธนิวเคลียร์ ทั้งนี้สถาบันเหล่านี้มีมูลค่ารวม 3.9 ล้านล้านดอลลาร์ (3,964,016,300,000 ดอลลาร์) ซึ่งคิดเป็นประมาณหนึ่งในสี่ของทรัพย์สินทั้งหมดที่สถาบันการเงินในหอเกียรติยศถือครอง (ซึ่งมีมูลค่ามหาศาลถึง 14 ล้านล้านดอลลาร์) ซึ่งจะไม่ใช้กับบริษัทที่เกี่ยวข้องกับอาวุธนิวเคลียร์

Susi Snyder ผู้เขียนรายงานกล่าวว่า “อาวุธนิวเคลียร์เป็นสิ่งผิดกฎหมายภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศ และนักลงทุนต่างมองเห็นว่าบริษัทที่อยู่เบื้องหลังมหาภัยเหล่านี้เป็นธุรกิจที่มีความเสี่ยง” “การเปลี่ยนแปลงภูมิทัศน์ทางกฎหมายได้เปลี่ยนแปลงอุตสาหกรรมการเงินไปแล้ว”

หากมีบริษัทที่กำลังทำบางอย่างที่แสดงถึงความเสี่ยงในด้านความยั่งยืน ธรรมาภิบาล สิทธิมนุษยชนหรือปัญหาอื่น ๆ สถาบันการเงินก็มีทางเลือกว่าพวกเขาจะต้องการให้เงินทุนแก่บริษัทเจ้าปัญหาเหล่านี้ต่อไปหรือไม่

บริษัทที่มีปัญหาเหล่านี้จำเป็นต้องสร้างเงินทุนเพื่อดำเนินกิจกรรมต่อไป และบางครั้งความคิดเห็นของนักลงทุนก็สามารถเปลี่ยนพฤติกรรมที่เป็นปัญหาได้ แต่นั่นก็ไม่เสมอไป และหากเป็นเช่นนั้น บริษัทอาจถูกตัดขาดความสัมพันธ์ทางการเงินและขึ้นบัญชีดำ ทั้งนี้สถาบันการเงินประมาณครึ่งหนึ่งในรายงาน 'Rejecting Risk' (ความเสี่ยงในการถูกปฏิเสธ) ได้เผยแพร่บัญชีดำของตน

โดยหน่วยงานต่าง ๆ ได้ทำการแนะนำนโยบายที่ควรรวมไว้ในรายงานนี้ให้แก่กันและกัน รายงานกล่าวว่า "ผู้มีความมั่งคั่งรายใหม่จำนวนมากกำลังแสวงหาการลงทุนในกองทุนที่มีเกณฑ์ด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาลที่เข้มงวด พร้อมกับการบังคับใช้สนธิสัญญาห้ามอาวุธนิวเคลียร์ จึงคาดการณ์ได้ว่าจำนวนนโยบายที่ไม่มีส่วนร่วมกับผู้ผลิตอาวุธนิวเคลียร์จะเพิ่มขึ้นต่อไป"

และยังกล่าวต่อไปว่า: ภาคการเงินมักจะต้องพิจารณาความเสี่ยง หากไม่มีความเสี่ยงสักเล็กน้อย ผลตอบแทนก็จะน้อยมาก กระนั้นก็มีสถาบันมากกว่า 100 แห่งที่เปิดเผยต่อสาธารณะว่าธุรกิจอาวุธนิวเคลียร์มีความเสี่ยงมากเกินไปและไม่คุ้มกับผลตอบแทนใด ๆ [IDN-InDepthNews - 21 มีนาคม 2022]

ภาพ: หน้าปกรายงาน